ประวัติโรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์  ในพระบรมราชานุเคราะห์ 

๑.  ข้อมูลทั่วไป

     ๑.๑  ชื่อโรงเรียน  โรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์  ในพระบรมราชานุเคราะห์

     ๑.๒  ชื่อผู้บริหาร ๑.  ดร.ชลารักษ์  สายอุทัศน์

                                      ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ ชำนาญการพิเศษ

      ๑.๓  ที่ตั้ง  เลขที่ ๖๖๖ หมู่ที่ ๒ ถนนสุขุมวิท (สายเก่า) ตำบลบางปูใหม่  อำเภอเมืองสมุทรปราการ 

                   จังหวัดสมุทรปราการ รหัสไปรษณีย์ ๑๐๒๘๐  โทรศัพท์/โทรสาร ๐-๒๓๒๓-๒๘๕๓

 

๒.  ประวัติโรงเรียน

           เมื่อวันอังคารที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทั้งสองพระองค์เสด็จทางชลมารคโดยเรือพระที่นั่ง เลียบตามชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มาถึง ตำบลบางปูใหม่ บริเวณหมู่บ้านคลองคอต่อ ทอดพระเนตรเห็นเรือประมงแล่นเข้าคลอง จึงเสด็จฯ ตามเรือประมงไปจนสุดคลองซึ่งไปสิ้นสุดที่ถนนสุขุมวิท(สายเก่า)ริมฝั่งคลองทั้งสองข้างมีหมู่บ้านของชาวประมงอาศัยอยู่ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจน เมื่อชาวบ้านทราบว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ มาต่างก็พากันไปเฝ้าฯ และทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของตามแต่ที่จะหามาได้ เช่น กุ้ง ปู ปลา หอย เป็นต้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ถามชาวบ้านถึงเรื่องวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ และโรงเรียนในหมู่บ้านนี้ ชาวบ้านจึงกราบบังคมทูลขอให้ทรงสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาขึ้นในหมู่บ้านเพราะขณะนี้มีแต่โรงเรียนประถมศึกษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ว่าจะนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานให้จัดสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาขึ้นเพื่อสงเคราะห์เด็กขัดสนขึ้น ณ ตำบลนี้ 

                       
           หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายวิเชียร วชิรพาหุ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมการศาสนา มาดำเนินการสืบหาเรื่องที่ดินของวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ และบริเวณใกล้เคียง เมื่อทรงทราบว่าวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ เป็นวัดมหานิกายสายสมเด็จพระสังฆราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงเรียนขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีคณะกรรมการ  ประกอบด้วย

               ๑.  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น  ปุณณสิริมหาเถร)  เป็นประธานกรรมการและเจ้าของโรงเรียน

               ๒.  นายสัญญา  ธรรมศักดิ์  ประธานองคมนตรี

               ๓.  พลเรือเอก หม่อมเจ้ากาฬวรรณดิศ  ดิศกุล

               ๔.  ดร.กัลย์  อิศรเสนา ณ อยุธยา

               ๕.  นายจำนง  ราชกิจ

               ๖.  พลอากาศตรี ศึกชัย  สุวรรณเนตร

               ๗.  นายวิเชียร  วชิรพาหุ  เป็นกรรมการ

           ต่อมาเมื่อนายจำนง  ราชกิจ ถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรกเกล้าฯ ให้นายภาวาส บุญนาค เป็นกรรมการแทน

           เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนเริ่มแรกจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท(สี่แสนบาทถ้วน)ในการก่อสร้างอาคารเรียนและสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลบริจาคเงินเพิ่มเติม  จำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนบาทถ้วน) บริษัท สังกะสีไทย จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ บริจาคเงินเพิ่มเติม จำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนบาทถ้วน) ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน บริจาคเงินเพิ่มเติม จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) ผู้มีจิตศรัทธาน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินประมาณ ๑๐ ไร่เศษ เพื่อใช้ในการก่อตั้งโรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์  และมีการก่อสร้างอาคารเรียนหลังแรกคืออาคาร “ภ.ป.ร.”

           เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเรียน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๒ ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังแรก เป็นตึกทรงไทย ๒ ชั้น ชื่ออาคาร “ภ.ป.ร.” ขนาด ๘ ห้องเรียน ราคา ๑,๓๐๐,๐๐๐ (หนึ่งล้านสามแสนบาทถ้วน) และได้เปิดทำการสอนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ต่อมาในปีการศึกษา ๒๕๑๔ เปิดทำการสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕-๖ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๒ และในปีการศึกษา ๒๕๑๕ เปิดทำการสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕-๗ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓ 

           วันจันทร์ที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๖ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประธานกรรมการและเจ้าของโรงเรียนพร้อมด้วยคณะกรรมการจัดสร้างโรงเรียน  และคณะกรรมการบริหารโรงเรียนได้มาประชุมเกี่ยวกับการดำเนินการจัดสร้างอาคารเรียนหลังที่สอง การมาประชุมครั้งนี้สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงประชวรอย่างกะทันหัน  จึงทรงมอบให้ นายสัญญา  ธรรมศักดิ์ เป็นประธานการประชุมต่อไป หลังจากเสด็จกลับแล้วก็ทรงประชวรอยู่ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ต่อมาสิ้นพระชนม์ เมื่อวันศุกร์ที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริยานก สิ้นพระชนม์หลังจากประชุมเรื่องการสร้างอาคารเรียนหลังที่สอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ฯพณฯ นายกัลย์  อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นเจ้าของโรงเรียน และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระพุทธิวงศมุนี เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร เป็นประธานกรรมการจัดสร้าง

           เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ คณะกรรมการบริหารโรงเรียนได้ประชุม และมีมติให้เปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเพียงระดับเดียวด้วยเหตุผลที่ว่าในการบริหารการศึกษาจะได้เป็นแนวทางเดียวกัน และยังเป็นการประหยัดงบประมาณของการจัดการเรียนการสอน ประจวบกับโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่อยู่ใกล้กับโรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ได้เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๗ ซึ่งสามารถรับเด็กนักเรียนในท้องถิ่นเข้ามาเรียนในระดับประถมศึกษาได้ โรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์จึงรับเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และในปีการศึกษา ๒๕๒๒ โรงเรียนได้เปลี่ยนแปลงการจัดการหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๒๑ เปิดทำการสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ รับเด็กนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ เข้าศึกษาต่อควบคู่ไปกับหลักสูตรเดิมคือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้าย              

           เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวน ๔๔๐,๔๐๐ บาท (สี่แสนสี่หมื่นสี่ร้อยบาทถ้วน) เป็นทุนก่อสร้างอาคารเรียน “ส.ก.” ร่วมกับข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ซึ่งสะสมไว้ถึง ๑๑ ปี เป็นอาคาร ๒ ชั้น ขนาด ๑๐ ห้องเรียน ราคา ๒,๖๓๕,๐๐๐ บาท (สองล้านหกแสนสามหมื่นห้าพันบาทถ้วน)

           วันจันทร์ที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนตามพระราชดำริ รวม ๑๑ คน คือ

               ๑.  ฯพณฯ นายเชาว์ ณ ศีลวัลต์ องคมนตรี

               ๒.  นายเสนาะ  อูนากูล เลขาธิการคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

               ๓.  ราชเลขาธิการ

               ๔.  เลขาธิการพระราชวัง

               ๕.  ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

               ๖.  อธิบดีกรมการศาสนา

               ๗.  อธิบดีกรมอาชีวศึกษา

               ๘.  อธิบดีกรมสามัญศึกษา

               ๙.  อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน

               ๑๐. เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ

               ๑๑. เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน

           เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ โรงเรียนได้รับงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน เป็นเงิน ๒,๖๔๔,๐๐๐ บาท (สองล้านหกแสนสี่หมื่นสี่พันบาทถ้วน)เพื่อสร้างอาคารโรงฝึกงาน และผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสมทบเพื่อก่อสร้างอาคารโรงฝึกงานเพิ่มเติมจากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ดังนี้

               ๑. มูลนิธิ “บุญถม  เย็นมะโนช” บริจาค ๖๖,๐๐๐ บาท (หกหมื่นหกพันบาทถ้วน)                                        

               ๒. ครอบครัวเย็นมะโนช บริจาค ๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองแสนบาทถ้วน)

               ๓. นางใจถวิล  ถิ่นพังงา บริจาค ๓๐๐,๐๐๐ บาท (สามแสนบาทถ้วน)

               ๔. คณะกรรมการดำเนินงานพระสมุทรเจดีย์ บริจาค ๔๐๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนบาทถ้วน)

           รวมเงินบริจาคจำนวน ๙๖๖,๐๐๐ บาท (เก้าแสนหกหมื่นหกพันบาทถ้วน) รวมเงินค่าก่อสร้างทั้งสิ้น จำนวน ๓,๖๑๐,๐๐๐ บาท (สามล้านหกแสนหนึ่งหมื่นบาทถ้วน)

           เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และ พ.ศ. ๒๕๓๙ นายประโยชน์  ตั้งเด่นไชย ได้ถมดินปรับสนามฟุตบอลให้แก่โรงเรียน เป็นเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) ร้านนาคดีออฟเซท สร้างซุ้มพระพุทธรูปให้ราคาจำนวน ๘๐,๐๐๐ บาท (แปดหมื่นบาทถ้วน) นายเด่นตง  ตั้งเด่นไชย บริจาคดินและหญ้าปูพื้นสนามฟุตบอลเป็นเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท(หนึ่งแสนบาทถ้วน)นายเจตน์  ถิ่นงามดี สร้างวงโยธวาทิต เป็นเงินจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท(สี่แสนบาทถ้วน)สร้างเรือนพยาบาล ๑ หลังพร้อมติดตั้งเครื่องปรับอากาศเป็นเงินจำนวน ๑๖๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนหกหมื่นบาทถ้วน)เทศบาลบางปูสนับสนุนงบประมาณ ดังนี้

               ๑. สร้างรั้วโรงเรียนมูลค่า ๕๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)

               ๒. สร้างแท็งก์เก็บน้ำมูลค่า ๑๕๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)

               ๓. งบพัฒนาโรงเรียนปีละ ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)

           เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินกองทุนให้โรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ จำนวน ๑๒,๘๒๔,๘๐๒.๙๘ บาท (สิบสองล้านแปดแสนสองหมื่นสี่พันแปดร้อยสองบาทเก้าสิบแปดสตางค์) นำมาจัดตั้งมูลนิธิพระราชทานเพื่อโรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์  ในพระบรมราชานุเคราะห์ พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต้นสังกัด และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อนำมาพัฒนาโรงเรียน ได้แก่

               ๑. องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ  ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อถมดินและปรับสนามฟุตบอล เป็นเงินจำนวน ๘๐๐,๐๐๐ บาท (แปดแสนบาทถ้วน)

           เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ โรงเรียนได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนเพื่อก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบ  จำนวน ๒ รายการ ดังนี้

               ๑. งบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน จำนวน ๑ หลัง ขนาด ๔ ชั้น จำนวน ๑๘ ห้องเรียน(ชั้นล่างโล่ง) ตามแบบของกรมสามัญศึกษา ๓๑๘ ล/พิเศษ  พร้อมปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร ภ.ป.ร. และอาคาร ส.ก.                 เป็นเงินจำนวน ๑๓,๗๘๙,๐๐๐ บาท (สิบสามล้านเจ็ดแสนแปดหมื่นเก้าพันบาทถ้วน) และได้ขอพระราชทานชื่ออาคารเรียนอาคารเรียนเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษา (ส.ธ.)  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

               ๒. งบประมาณก่อสร้างหอประชุมโรงอาหาร แบบ ๑๐๑ ล/๒๗ พิเศษ จำนวน ๑ หลัง เป็นเงินจำนวน ๘,๗๐๐,๐๐๐ บาท (แปดล้านเจ็ดแสนบาทถ้วน)

           วันอาทิตย์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖ กรมสามัญศึกษา ได้แต่งตั้งนายอภิชาติ พลธรรม รองผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัวแดงวิทยา สังกัดสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดชัยภูมิ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์

           วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนรัฐบาล (เพิ่มเติม) ซึ่งอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน และการดำเนินการ มาเป็นโรงเรียนรัฐบาล พร้อมทั้งรับโอนทรัพย์สิน บุคลากรมาสังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์”        

           วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีการแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาจึงทำให้โรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ มาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต ๑

           เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดสรรงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน แบบ ๒๑๖ ล ปรับปรุง ๔๖ จำนวน ๑ หลัง เป็นเงินจำนวน ๑๕,๑๖๗,๙๐๐ บาท (สิบห้าล้านหนึ่งแสนหกหมื่นเจ็ดพันเก้าร้อยบาทถ้วน) และได้ขอพระราชทานชื่ออาคารเรียน เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ซึ่งได้พระราชทานชื่ออาคารเรียน “อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐”  และอนุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ประดับที่ป้ายชื่ออาคาร

           เมื่อปีการศึกษา ๒๕๕๐ โรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์  ได้เปิดทำการสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเริ่มที่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ เป็นรุ่นแรก

           วันพฤหัสบดีที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต ๑ ได้รับย้าย นายบุญจักรวาล  รอดบำเรอ ผู้อำนวยการโรงเรียนวังหลังวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสระแก้ว เขต ๑ มาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ และได้เดินทางมารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบัน

         เมื่อวันอังคารที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๑๕.๓๐ นาฬิกา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษา (ส.ธ.)” และทรงเปิด “ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ ๕๕ พรรษา”สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นห้องสมุดอยู่ภายในอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษา (ส.ธ.) บริเวณชั้น ๑ ของอาคาร

         เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ โรงเรียนได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารโรงอาหารเพื่อจัดทำเป็นหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยขอรับการบริจาคเงินจากผู้มีจิตศรัทธา

         วันจันทร์ที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๑๕.๔๙ นาฬิกา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเรียน แบบพิเศษ ขนาด ๖ ชั้น จำนวน ๓๐ ห้องเรียน เพื่อน้อมเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ งบประมาณในการก่อสร้างจำนวน ๓๔,๐๕๐,๐๐๐ บาท (สามสิบสี่ล้านห้าหมื่นบาทถ้วน) และอาคารหอสมุด ขนาด ๓ ชั้น สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ งบประมาณในการก่อสร้าง จำนวน ๑๑,๐๕๐,๐๐๐ บาท (สิบเอ็ดล้านห้าหมื่นบาทถ้วน) และอาคารกีฬา สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕๗ พรรษา ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ งบประมาณในการก่อสร้าง จำนวน ๗,๙๒๔,๙๙๔ บาท (เจ็ดล้านเก้าแสนสองหมื่นสี่พันเก้าร้อยเก้าสิบสี่บาทถ้วน)

           เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖  สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี  ขอให้สำนักราชเลขาธิการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน ขอพระราชทานชื่อโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนในถิ่นทุรกันดาร  และถิ่นที่มีผู้ก่อการร้ายตามแนวชายแดน  ตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ พร้อมทั้งขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ภายใต้พระมหามงกุฎประกอบเป็นตราสัญลักษณ์ ของโรงเรียน และวันพุธที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ สำนักราชเลขาธิการพิจารณาแล้วสมควรให้ใช้ “ในพระบรมราชานุเคราะห์” ต่อท้ายชื่อโรงเรียนเป็น “โรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์  ในพระบรมราชานุเคราะห์” เพื่อเป็นเกียรติประวัติ และเป็นที่ภาคภูมิใจว่าเป็นโรงเรียนในวัดที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนเริ่มแรกในการก่อสร้างโรงเรียน